วันอังคารที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2556

สารบริสุทธิ์



ใบความรู้
                                 เรื่อง  สารบริสุทธิ์
                                                          -----------------------------------------------------------------
 
 
               สารบริสุทธิ์ หมายถึง สารเนื้อเดียวที่มีองค์ประกอบเพียงชนิดเดียว  มีสมบัติเหมือนกันแบ่งเป็น
                         1. ธาตุ   คือ สารบริสุทธิ์ที่ประกอบด้วย ธาตุหรือสารชนิดเดียว  ไม่สามารถแยกหรือสลายออกเป็นสารอื่นได้  เช่น เงิน  ทอง  คาร์บอน  ออกซิเจน  เป็นต้น  จำแนกออกเป็น 3 ชนิดดังนี้
1)       โลหะ  มีสถานะเป็นของแข็งที่อุณหภูมิปกติ  ยกเว้นปรอทที่เป็นโลหะ  แต่อยู่ใน
สถานะของเหลว  โลหะจะมีผิวเป็นมันวาว  มีจุดเดือดสูง และนำไฟฟ้าได้ดี  โลหะบางชนิดเป็นสารแม่เหล็ก  ตัวอย่างธาตุโลหะ เช่น  เหล็ก  ทองแดง  สังกะสี  แมกนีเซียม เป็นต้น
2)       อโลหะ เป็นได้ทั้ง 3 สถานะ คือ ของแข็ง  เช่น กำมะถันเป็นของแข็งสีเหลือง
 ธาตุโบรมีนเป็นของเหลวสีแดง  และคลอรีนเป็นก๊าซสีเขียวอ่อน อโลหะส่วนใหญ่มีสมบัติตรงกันข้ามกับโลหะ  เช่น กำมะถัน  เปราะ  ไม่นำไฟฟ้า  มีจุดเดือดต่ำ
3)       ธาตุกึ่งโลหะ  เป็นธาตุที่มีสมบัติกึ่งโลหะและอโลหะ เช่น โบรอนเป็นของแข็งสีดำ 
เปราะ  ไม่นำไฟฟ้า  มีจุดเดือดสูงถึง 4,000 องศาเซลเซียส  ธาตุซิลิคอน  เป็นของแข็งสีเงินวาว  เปราะ  นำไฟฟ้าได้เล็กน้อย  มีจุดเดือด 3,265  องศาเซลเซียส เป็นต้น
       2. สารประกอบ  คือ สารที่ประกอบด้วยธาตุตั้งแต่  2  ชนิดขึ้นไป  มาทำปฏิกิริยาเคมี
กันด้วยสัดส่วนที่แน่นอน  กลายเป็นสารชนิดใหม่  มีสมบัติแตกต่างไปจากธาตุที่เป็นองค์ประกอบเดิม  ตัวอย่างของสารประกอบ เช่น  เกลือแกง  น้ำ  คาร์บอนไดออกไซด์ กรด  เบส  เป็นต้น



สารเนื้อเดียว สารเนื้อผสม

                                      ใบความรู้
     เรื่อง  สารเนื้อเดียว  สารเนื้อผสม
--------------------------------------------------------------------------
          การจำแนกสารโดยใช้เนื้อสารเป็นเกณฑ์เป็นวิธีที่นิยมใช้กันมาก  เนื่องจากสามารถแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับสารได้มากกว่าวิธีอื่น ๆ     โดยตามเกณฑ์นี้จะจำแนกสารออกเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ 2  กลุ่ม  คือ สารเนื้อเดียว  และ สารเนื้อผสม
          สารเนื้อเดียว หมายถึง สารที่สังเกตเห็นเนื้อสารกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกันทั้งหมด  อาจมีองค์ประกอบเป็นสารชนิดเดียว  หรือมากกว่า  1  ชนิดก็ได้  และแสดงสมบัติเหมือนกันตลอดทุกส่วนของสารอาจมีสถานะเป็นของแข็ง  ของเหลวหรือก๊าซก็ได้
            สารเนื้อเดียวที่มีสถานะเป็นของแข็ง เช่น นาก  เกลือแกง  ทองคำ  ดีบุก  ทองเหลือง
            สารเนื้อเดียวที่มีสถานะเป็นของเหลว เช่น น้ำ  น้ำเชื่อม  น้ำเกลือ  ปรอท  ทิงเจอร์ไอโอดีน
            สารเนื้อเดียวที่มีสถานะเป็นก๊าซ เช่น อากาศ  ก๊าซออกซิเจน  ไอน้ำ  ก๊าซไฮโดรเจน
            สารเนื้อผสม  หมายถึง  สารที่สังเกตเห็นเนื้อสารไม่กลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน  มีองค์ประกอบเป็นสารมากกว่า  1  ชนิด  และแสดงสมบัติของสารไม่เหมือนกันตลอดทุกส่วนของสาร
            ชนิดของสารเนื้อผสมมีดังนี้
            1. สารเนื้อผสมระหว่างของแข็งกับของแข็ง เช่น   พริกกับเกลือ , คอนกรีต  ข้าวสารปนข้าวเปลือก
1.      สารเนื้อผสมระหว่างของแข็งกับของเหลว เช่น ลูกเหม็นลอยน้ำ  ตะกอนในน้ำ  ทับทิมกรอบน้ำกะทิ
2.      สารเนื้อผสมระหว่างของแข็งกับก๊าซ เช่น เขม่าในอากาศ           ควันไฟ       ฝุ่นละอองในอากาศ 
3.      สารเนื้อผสมระหว่างของเหลวกับของเหลว  เช่น  น้ำกับน้ำมัน
สารเนื้อผสมระหว่างของเหลวกับของเหลว  เช่น  น้ำกับน้ำมัน












การใช้สถานะเป็นแกณฑ์



ใบความรู้
เรื่อง  การใช้สถานะเป็นเกณฑ์จำแนกสาร
----------------------------------------------------------------------------------
            ถ้าใช้สถานะเป็นเกณฑ์ในการจำแนกสาร   จะแบ่งสารออกได้  3  สถานะคือ
1.      สารที่มีสถานะเป็นของแข็ง




สารที่มีสถานะเป็นของแข็ง  หมายถึง สารที่มีรูปร่างและปริมาตรคงที่  โมเลกุลของสารจะอยู่ชิดกันและยึดกันแน่น  เพราะมีแรงยึดเหนี่ยวระหว่างโมเลกุลมากที่สุด  ตัวอย่างเช่น หิน  เหล็ก  ทองแดง  กำมะถัน  ด่างทับทิม  เป็นต้น
 
       2.      สารที่มีสถานะเป็นของเหลว



สารที่มีสถานะเป็นของเหลว  หมายถึง สารที่มีรูปร่างไม่คงที่  เปลี่ยนไปตามภาชนะที่บรรจุ  สามารถไหลได้  แต่ปริมาตรคงที่  แรงยึดเหนี่ยวระหว่างโมเลกุลน้อยกว่าของแข็ง  เนื่องจากโมเลกุลของสารจะอยู่ห่างกัน  และมีช่องว่างมากกว่าของแข็งเช่น  น้ำ  น้ำส้มสายชู  เป็นต้น

3.      สารที่มีสถานะเป็นก๊าซ

สารที่มีสถานะเป็นก๊าซ  หมายถึง  สารที่มีรูปร่างและปริมาตรไม่คงที่  ฟุ้งกระจายเต็มภาชนะที่บรรจุ  โมเลกุลของก๊าซจะอยู่ห่างกันมากกว่าของแข็งและของเหลว  และเคลื่อนที่ได้อย่างอิสระ  นอกจากนี้แรงยึดเหนี่ยวระหว่างโมเลกุลน้อย  ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างโมเลกุลมากกว่าของแข็งและของเหลว



                     

สารและสมบัติของสาร



                                        ใบความรู้

                                                  เรื่อง  สมบัติของสาร

ความหมายของสารและสสาร

                         สสารคือ สิ่งต่าง ๆ ที่มีตัวตน  มีมวล  ต้องการที่อยู่ และสัมผัสได้  
                         จากลักษณะที่สำคัญของสสารจะพบว่าสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นจะเป็นภาพหรือคำรวม ๆ ของสิ่งที่เรียกว่า สาร   ซึ่งสารแต่ละชนิดจะมีชื่อเรียกต่างกันไปมีองค์ประกอบ  ลักษณะภายนอก  สมบัติที่ไม่เหมือนกัน
                         ตาราง  ตัวอย่างสสารต่าง ๆ และสารที่เป็นองค์ประกอบ 
สสาร
สารที่เป็นองค์ประกอบ
เหล็ก
เหล็ก
เพชร

เพชร

โต๊ะ - เก้าอี้
ไม้ + เหล็ก + (ตะปู)
น้ำเกลือ
น้ำ + เกลือ
                         ในชีวิตประจำวันของเรามีสารเข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ  บางชนิดมีประโยชน์    บางชนิดมีโทษ  เราจึงจำเป็นต้องศึกษาสมบัติของสาร  เพื่อการนำมาใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม  เพื่อการดำเนินชีวิตของเราและเพื่อจะได้ใช้สารให้เกิดประโยชน์มากที่สุด  โดยไม่ก่อผลเสียต่อตนเอง สังคมและสิ่งแวดล้อม
                         สมบัติของสาร
                   สารรอบตัวมีจำนวนมากมาย  แต่ละชนิดอาจมีสมบัติบางอย่างเหมือนกัน  หรือมีสมบัติบางอย่างต่าง กัน  สมบัติของสารจึงเป็นลักษณะประจำเฉพาะตัวของสารแต่ละชนิด  ที่จะบอกให้ทราบว่า  สารนั้นเป็นอย่างไร  จำแนกเป็น  2  ประเภทคือ
1.         สมบัติทางกายภาพ  เป็นลักษณะที่สังเกตเห็นภายนอกได้  ตรวจสอบได้ด้วยการ
สังเกต  หรือตรวจสอบด้วยเครื่องมือและการทดลองง่าย ๆ ไม่เกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาเคมี เช่น สถานะสี  กลิ่น  รส  การละลาย  ความหนาแน่น  การนำไฟฟ้า  ลักษณะผลึก  จุดเดือด  เป็นต้น
2.         สมบัติทางเคมี  เป็นลักษณะที่เกี่ยวข้องกับองค์ประกอบภายในของสารตรวจสอบ
ได้โดยอาศัยการเปลี่ยนแปลงทางเคมี เช่น  การติดไฟ  การเผาไหม้  การระเบิด  ความเป็นกรดเบส  การสลายตัวได้สารใหม่  และการเกิดปฏิกิริยาเคมีกับสารชนิดอื่น ๆ เป็นต้น